Wednesday, October 11, 2006

ดูละครแล้วย้อนดูตัว

ภูมิคุ้มกัน"ละครไทย" ของผมลดลงไปมากในช่วงขวบปืที่ผ่านมา สังเกตจากอาการลุกลี้ลุกลนและทนไม่ได้จำเป็นต้องเลิกดูไปเลยหรือไม่ก็ข่มตาหลับไม่ให้รับรู้เรื่องราวเอาเสียดื้อๆ ครั้นจะเปลี่ยนบรรยากาศไปฟังข่าวก็เกิดอาการแปล๊บขึ้นมาอีก ค่าที่ทุกวันนี้มีแต่คนมานั่ง"เล่น"ข่าวไม่เห็นมีใครมานั่ง"อ่าน"ข่าวให้ฟังสักคน จะว่าหัวโบราณก็ไม่ใช่เพราะผมยังเชื่อว่าข่าวก็คือ ความจริง(fact)ถึงแม้กระบวนการที่ได้มาจะโดนครอบงำหรือบิดเบือนจากผู้มีอำนาจก็ตามที ผู้อ่านข่าวที่ดีต้องเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ไม่ควรใส่อารมณ์ความรู้สึกลงไป เพราะแบบนั้นมันก็เครือเดียวกับการฟังอาซิ้มข้างบ้านนินทาอาแปะบ้านตรงข้ามนั่นแหละ ทางออกที่ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นการอ่านหนังสือ ดีเหมือนกันเผื่อการกระทำครั้งนี้จะช่วยเพิ่ม mean อัตราการอ่านหนังสือประชาชาติที่เขาว่ากันว่าอยู่ในระดับ 6 บรรทัดต่อคนต่อปีขึ้นมาอีกสักนิด

ที่ว่าทนละครไทยไม่ได้ก็เพราะ เนื้อหาและconcept ยังคงหมุนวนอยู่ในรูปแบบเดิมๆ ตัวละครก็เหมือนอวตารแบ่งภาคจากอดีตหรือข้ามช่องมา แม้หน้าตาจะแตกต่างกันแต่อุปนิสัยใจคอเหมือนกันอย่างกับแกะ
ยกตัวอย่างเช่น

นางเอก ต้องสวยใส(ไร้สติได้ยิ่งดี) หัวอ่อน ว่านอนสอนง่าย กตัญญู แอบโง่นิดๆ คิกขุอาโนเนะ มุมานะ อดทน ยิ้มสวย ไม่มีปากเสียงเถียงใครไม่เป็น อ่อนหวาน หากจะมีอาการขึงขังหรือสู้คนขึ้นมาได้ก็ต้องทำอย่างพองามกระเดียดไปทางน่ารักน่าเอ็นดู และไม่ผิดทำนองคลองธรรม

เพื่อนนางเอก ต้องทันคน พร้อมให้คำปรึกษาได้ทุกเมื่อ เป็นปากเป็นเสียงแทนนางเอก และมีบุคลิคทุกอย่างที่ผมคิดว่านางเอกอยากเป็นเพืยงแต่โอกาสไม่เอื้ออำนวย

พระเอก ต้องหล่อ รวยจนไม่สำคัญขอให้เป็นปฏิภาคกับนางเอกก็พอ หูเบา ถ้ารวยต้องเจ้าชู้มีผู้หญิงล้อมหน้าล้อมหลัง ไม่ต้องทำงานก็มีเงินใช้ มีแม่นม มีแม่บ้าน มีคุณหญิงแม่ที่ชอบออกงานสังคม ถ้าจนก็ต้องทำงานได้ทุกอย่าง มีคุณธรรมดีเริ่ดเหมือนผ่านการบวชเรียนและสำเร็จเปรียญธรรม 9 ประโยค ทำเพื่อนางเอกได้ทุกอย่าง รับได้หมดไม่ว่านางเอกจะผ่านชายมาแล้วกี่คนก็ตาม

เพื่อนพระเอก มักมีอาชีพเป็นหมอ เป็นทนาย และเป็นชนกลุ่มน้อยที่มองเห็นค่าในตัวนางเอกตั้งแต่แรกพบ

ตัวอิจฉา ต้องแรด ก๋ากั่น พูดอะไรก็มีแต่คนเชื่อเหมือนตัวเองเป็นเทพธิดาพยากรณ์ จอมวางแผน จอมบงการ ชอบเล่นหูเล่นตากับกล้อง(ไม่รู้ทำไม) ตอนท้ายเรื่องถ้าไม่สำนึกผิดบวชเป็นนางชี ก็ต้องตายสาสมกับผลกรรมที่ได้ก่อไว้

คนใช้ ใส่เสื้อ uniform นั่งนินทาเจ้านาย เป็นสายลับ แบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน และหน้าเดิมๆ

เนื้อเรื่อง ต้องเป็นรักต่างฐานันดรศักดิ์ พ่อแง่แม่งอน ตามกระแส เช่นช่วงไหนเพลงลูกทุ่งกำลังดัง ก็จะมีหนังแนว สาวน้อยคาเฟ่ ราชินีหมอลำ ราชินีเพลงฉ่อยเพลงอีแซว สาวน้อยร้อยล้าน สาวน้อยร้อยกีบ หากเปลี่ยนเป็นแนวลึกลับก็มักจะผลิตออกมาซ้ำๆ เช่น อมฤตาลัย อนินทิตา เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เหยื่อมดเหยื่อมาร หากนางเอกจะเป็นโรคร้ายก็มักจะมี choice ให้เลือกแค่ มะเร็งในสมอง มะเร็งเม็ดเลือดขาว เพื่อคงความสวยงามของรูปโฉมโนมพรรณ เพราะคงไม่มีใครอยากเห็นนางเองเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งจิ๋มแน่ๆ และแทบทุกเรื่องต้องมีฉากปลุกปล้ำ ฉากที่นางเอกประเหมาะเคราะห์ร้ายแอบเห็นพระเอกเปล่าเปลือยท่อนบนหรือไม่ก็ท่อนล่าง และต้องแสดงอะไรที่มันฝืนธรรมชาติมากๆคือเหนียมอายพร้อมกับหลบสายตาไปทางอื่น!

เพราะเหตุใดต้องเป็นเช่นนื้? ผมลองวิเคราะห์เล่นๆ แล้วได้ข้อสรุปออกมา 2 ข้อที่พอจะอธิบายได้คือ

1.สังคมโลกส่วนใหญ่เป็นสังคมปิตาธิปไตย ที่นับถือบูชาความเป็นผู้ชาย ความแข็งแกร่ง ด้วยเหตุนี้เองจึงต้องมีปัจจัยมาสนับสนุนเพื่อยกฐานะและเสริมสร้างความเชื่อในระบอบนี้ นั่นก็คือความเรียบร้อย อ่อนหวาน น่ารัก น่าทะนุถนอม เพื่อเป็นข้ออ้างอันชอบธรรมในการที่จะสยายปีกเข้ามาปกป้องคุ้มครอง ให้อยู่ในลู่ในทางที่ตนต้องการ และมันก็ช่างสอดรับกับค่านิยมของลูกหลานไทยมาตั้งแต่สมัย victoria ว่าคนที่จะอยู่ภายใต้ปีกนี้จะต้องเป็นบุคคลที่ควรค่าแก่การปกป้อง ซึ่งก็คือคุณสมบัตของนางเอกที่ได้จาระไนมาแล้วตั้งแต่ต้น ส่วนอีพวกที่ออกนอกลู่นอกทาง(นางอิจฉา) ก็จำต้องได้รับผลกรรมที่มันก่อไว้อย่างสาสม ส่วนพระเอกจะทำเหี้ยอะไรก็ได้ไม่มีใครว่าหากยังทำหน้าที่ปกป้องนางเอกได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง!

2.สังคมไทยไม่ใช่สังคมอุดมปัญญาแต่เป็นสังคมอุดมไปด้วยระบบวรรณะหรือระบบชนชั้น เนื้อเรื่องของละครจึงสะท้อนภาพจินตนาการร่วมของคนในสังคมทั้งหลาย ที่อยากจะปลดเปลื้องตัวเองออกจากระบบ ถ้าหากทำในชีวิตจริงมันยากเย็นแสนเข็ญนัก ก็ต้องใช้ตัวกลางในการเป็นสื่อเพื่อพาตัวเองเดินทางไปยังสังคมอุดมคติที่อยู่ข้างหน้า เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีเรื่องฐานันดร อิทธิพล อำนาจมืดเขามาเกี่ยวข้อง และลองสังเกตดูสิคุณธรรมความดีมักจะชนะอำนาจชั่วเหล่านั้นได้ก็แค่ในละคร!

เป็นไงครับ เหตุผลของผมพอจะไปวัดไปวาได้ไหม อาจจะมีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับผมก็ได้เพราะมันก็แค่ความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้นเอง

ถึงตรงนี้ผมเลยคิดว่าไม่แปลกหากจะมีใครก่นด่าละครไทยว่าน้ำเน่าไร้สมองไม่มีทางเป็นไปได้แต่ก็ยังได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย

เพราะละครไทยมีไว้รับใช้จินตนาการเท่านั้น


Tuesday, October 10, 2006

15 ค่ำ เดือน 11

สารภาพตามตรงหากไม่มีภาพยนตร์ชื่อเรื่องเดียวกับที่จั่วหัวเอาไว้เป็นแรงกระตุ้นอารมณ์อยากรู้อยากเห็น ผมคิดว่าในช่วงชีวิตนี้คงจะไม่มีโอกาสเดินทางไปสุดเขตประเทศไทยเพื่อทัศนา "บั้งไฟพญานาค"แน่ๆ เพราะต้องยอมรับว่าสมัยนี้สื่อมีอิทธิพลต่อมนุษย์เป็นอย่างมากโดยเฉพาะผมผู้ซึ่งวันๆไม่ได้มีเวลา ย่อยสรรพสาระบ้างไร้สาระบ้างทั้งหลายแหล่ที่ประดังเข้ามาในทุกช่วงเวลาของการรับรู้ เลยมีแนวโน้มที่จะเชื่อตามเขาว่าอย่างไม่ยากเย็นนัก ยิ่งมุมมองของผู้กำกับได้ถ่ายทอดบรรยากาศ ภายในงานที่ดูยิ่งใหญ่ประหนึ่งเป็นมหกรรมประจำชาติ บวกกับตอนจบของเรื่องที่ทิ้งปริศนาเอาไว้ให้ขบคิด ยิ่งทำให้อยากไปสัมผัส"ของจริง"ว่ามันจะเหมือนอย่างที่จินตนาการเอาไว้หรือไม่

เรา(คือผมและเพื่อน อีก 3 คน)ออกจาก จ.อุดรธานี ประมาณ 10 โมงเช้า ท่ามกลางบรรยากาศขมุกขมัวของวัน ขับรถไปตามทางหลวงหมายเลข 2 หรือถนนมิตรภาพที่ทอดยาวจากกรุงเทพมหานคร เรื่อยไปจนถึง จ.หนองคาย ท้องฟ้าวันนี้ไม่โปร่ง แสงแดดไม่สามารถลอดผ่านม่านเมฆสีทาดำที่ห่มคลุมผืนฟ้าเบื้องหน้า เหมือนกับไม่อยากต้อนรับอาคันตุกะที่มาจากต่างแดนฉะนั้น โชคยังดีที่รถของเราวิ่งฝ่าฝนเพียงแค่ชั่วครู่ชั่วยาม ถึงแม้ห่าฟนที่ตกลงมาจะเป็นรองแค่พายุช้างสารที่ได้มาเยือนประเทศไทยก่อนหน้านี้ก็ตามที

จ.หนองคายเป็น จังหวัดเล็กๆอยู่ติดแม่นำโขง ลักษณะเป็นแนวยาวทอดตัวตามทิศตะวันออก-ตก มีสะพานข้ามแม่น้ำโขง หรือสะพานมิตรภาพไทย-ลาวข้ามไปยังฝั่งลาว และถ้าหากต่อรถเข้าไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตรก็จะถึงเมืองเวียงจันทร์ ทำให้ทุกวันนี้หนองคายมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะมากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะพวก back packers เพราะถือว่าเป็นเมืองที่มีชัยภูมิดีต่อการตั้งมั่นและคมนาคม นอกจากนี้ยังได้รับ vote จากบรรดานักท่องเที่ยวทั้งหลายให้เป็นเมืองน่าอยู่อันดับต้นๆของโลกเสียด้วย

เราแวะจอดรถที่ข้างถนนในตัวเมืองหนองคาย โดยคำแนะนำของอม่าเจ้าของบ้านที่รถเราไปวางตัวขวางทางเข้าออกอยู่นั้น แกบอกให้ออกเดินทางไป อ.โพนพิสัย สักประมาณบ่ายต้นๆ เพราะคาดจากประสบการณ์โชกโชนของแก ว่ารถจะติดมากในช่วงใกล้ค่ำ เราขอบคุณอม่าและเดินไปหาอาหารเที่ยงกินกันในตลาดท่าเสด็จ ตลาดอินโดจีนชื่อดังของจ.หนองคาย จากการเดินสำรวจในระยะเวลาสั้นๆ ผมพบว่าตลาดแห่งนี้ ไม่มีอะไรแปลกใหม่ เหมือนกับตลาดติดชายแดนทุกแห่งที่มักขายของแบบเดืยวกัน(ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร) เช่น ผ้าซิ่น ผ้าไหม ขนมห่อ ขนมถุง เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเล่นเด็กฯลฯ โดยเน้นปริมาณและราคาถูกเป็นหลัก ผมไม่ได้ติดใจมากนักแล้วก็ไม่คิดจะซื้อของฝากใครด้วยจึงไม่ได้เยี่ยมชมและเลือกซื้อของตามคุณสมบัตินักท่องเที่ยวที่ดี

เราใช้เวลากับการกิน อยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง จึงได้ฤกษ์ออกเดินทางไป อ.โพนพิสัยที่ว่ากันว่าเป็นจุดเยี่ยมชมบั้งไฟพญานาคที่ work ที่สุด และเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง 15 ค่ำเดือน 11 (นอกจากอำเภอนี้แล้ว ยังมีอีกหลายอำเภอที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เช่น อ.รัตนวาปี เป็นต้น หรือจะดูที่ไหนก็ได้ที่ติดแม่น้ำโขงแต่จำเพาะต้องอยู่ใน จ.หนองคายเท่านั้นจังหวัดอื่นไม่มีสิทธิ์)


อ.โพนพิสัยในวันออกพรรษาดูคึกคัก มีผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ท้องถนนคลาคล่ำไปด้วยยวดยานพาหนะหลาย species และฝูงชนผู้ฃึ่งออกเดินเยี่ยมชมเมืองสัมผัสบรรยากาศ one moment in time และพร้อมใจกันฆ่าเวลาให้ตายเกลื่อนเพราะกว่าที่บั้งไฟพญานาคจะผุดพรายขึ้นมาจากท้องน้ำต้องรอให้ตะวันหลบแสงเสียก่อน เราก็เอากับเขาด้วย ไม่ว่าจะเดินเล่นริมโขง เข้าวัดไหว้พระ เล่นสวนสนุกเคลื่อนที่จำพวกชิงช้าสวรรค์ และ รถบั้มพ์ แต่จนแล้วจนรอดพระอาทิตย์ก็ยังไม่ลาลับโลกไปเสียที

ตลอดริมฝั่งแม่น้ำโขงที่ทอดขนานไปกับตัวอำเภอมีฝูงชนเข้ามาจับจองที่นั่งเป็นระยะ บ้างก็นั่งรอ ร้อ รอ เฉยๆ บ้างก็ถือโอกาส pick nick กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากันเสียเลย ที่สะดุดตาที่สุดคงหนีไม่พ้น เต้นท์นอน ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง ที่วางกระจายตามแนวตลิ่งริมแม่น้ำ คาดว่าคงจะนอนนับบั้งไฟกันทั้งคืนหรือไม่ก็นอนรอฟ้าแจ้ง ไม่ต้องออกไปแย่งยื้อกับประชากรนับหมื่นที่คาดว่าจะพร้อมใจกันกลับบ้านในคืนนี้

-------------------------------------------------------------------

ฟ้ามืดมานานแล้วแต่ผมก็ยังไม่เห็นบั้งไฟพญานาคสักดวง ตอนนี้บรรยากาศจัดว่าค่อนข้างอึดอัดเพราะยังคงมีฝูงชนทยอยกันมาอยู่เรื่อยๆ จากที่เหยียดแข้งเหยียดขาและเอกเขนกได้ก็ต้องจัดระเบียบร่างกายไม่ให้รุกล้ำอธิปไตยของคนอื่น แถมยังต้องพะว้าพะวังกับไฟเทียมที่ชาวปะชาริมฝั่งพร้อมใจกันจุดแข่งแสงของพญานาค ทั้งกระทงไฟที่ไหลเอื่อยไปตามแรงกระเพื่อมของลำน้ำโขง และโคมลอยที่ขยันจุดกันเหลือเกิน ทำให้ผมรู้สึกสับสนว่าอยู่ในงานประเพณียี่เป็งของ จ.เชียงใหม่ ไหลเรือไฟของ จ.นครพนม หรือกังการตี ของเมืองพาราณสีประเทศอินเดีย กันแน่ นอกจากนี้ยังต้อง warm up อายตนะภายในให้ตื่นตัวอยู่เสมอหากมีเสียงกึกก้องกัมปนาทมาจากทิศทางไหนก็ต้องสั่งการให้ลำคอหมุนไปยังทิศนั้นเพื่อเสพภาพของบั้งไฟที่คิดว่าน่าจะเป็นของพญานาค แต่ก็ไม่เคยได้ดังหวังสักที

หลังจากที่อดทนรอกว่า 6 ชม. ผมกับเพื่อนได้ตัดสินใจกลับ เพราะไม่สามารถทนกับแสงสี artificialและฝูงชนมหาศาลได้อีกต่อไป คงต้องโทษตัวเองที่ไม่มีบุญได้เห็นบั้งไฟพญานาคแม้เพียงแค่ลูกเดียวในชีวิต และก็ความไม่มีบุญของเรานี่แหละที่ทำให้มาพานพบกับความไร้ระเบียบของใครหลายๆคนที่พยายามแย่งซีน ปรากฏการณ์ธรรมชาติ จึงอดไม่ได้ที่จะโกรธ ทั้งที่เมื่อแรกมาก็ปาวารนาตัวแล้วว่าขอแค่สัมผัสบรรยากาศเพื่อเป็น "สักครั้งหนึ่งในชีวิต"ก็พอ

-----------------------------------------------

บทส่งท้าย :ข้อคิดที่ผมได้รับจากปรากฏการณ์ "บั้งไฟพญานาค"

1.จ.หนองคายได้กลายเป็นหมุดหมายปลางทางของบรรดา touristทั้งหลายอย่างไม่ต้องสงสัย และทางจังหวัดเองซึ่งอาจจะได้รับแรงสนับสนุนจากองค์กรการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง ได้ถือโอกาสอุปโลกน์ตัวเองให้กลายเป็นเมืองพญานาคเอาเสียเลย(ทั้งที่ไม่เคยมีใครเห็นพญานาคอุ้มลูกจูงหลานเลื้อยมาจ่ายตลาดเลยสักคน) อันที่จริงในตำนานพื้นบ้านก็เล่าไว้ว่าในแถบจ.หนองคายและฝั่งลาวที่อยู่ตรงข้ามเคยเป็นที่อยู่ของพญานาคมาก่อนและพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาทำนายเอาไว้ว่าจะมีบ้านเมืองที่เจริญเกิดขึ้น เนื้อเรื่องเป็นสัญญะถึงการดองเป็นทองแผ่ยเดียวกันของระบบความเชื่อดั้งเดิมที่บูชานาค กับการรับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาสถิตย์ในดินแดนแถบนี้ คล้ายกับตำนานอุรังคธาตุในการสร้างพระธาตุพนม ทุกวันนี้จึงเห็นประติมากรรมนาคมากมายไม่เว้นแม้กระทั่งเสาไฟฟ้า! คล้ายๆกับเป็นการหยิบเอาบางส่วนบางตอนของตำนานมาร้อยรัดเป็นเรื่องราวให้เกิดเป็นอัตลักษณ์ แสดงความ unique กระตุ้นให้เกิดการแสวงหาที่ต้องการหลุดพ้นจากสิ่งที่มัน same same (ซึ่งองค์กรการท่องเที่ยวของประเทศนี้เขาชอบนัก)

2."บั้งไฟพญานาค" ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สัมบูรณ์อีกต่อไป เพราะมีมือหลายมือเข้ามาช่วยเหลือ ออกไอเดีย จัดรูปแบบ ให้ประชาชนทุกคนได้มีส่วนร่วมกันอย่างทั่วถึง มองในแง่ดีก็ทำให้เราไม่จำเป็นต้องตะเกียกตะกายในการมาดูมากนัก เพราะมีคนมาคอย guide เราบ้างแล้ว แต่ในแง่ร้ายที่ผมคิดว่าทำให้ความขรึมขลังของปรากฏการณ์นี้หายไปอย่างมาก ก็คือความเลอะเทอะของฝูงชนที่ไม่ยึดตามกฏระเบียบและกิจกรรมต่างๆที่ได้ประเดประดังเข้ามาให้เห็นอยู่ทุกบ่อย เหมือนลืมไปแล้วว่าโดยเนื้อแท้คืออะไร ผมคิดว่าที่จำเป็นต้องจัดให้มีกิจกรรมหลากหลายก็เพราะเราไม่อาจคาดการณ์อะไรล่วงหน้าได้เลย จึงต้องมีวิธีผ่อนคลาย หรือ distract สมาธิออกไปบ้าง แต่อย่าลืมนะครับว่า การที่เราไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้นี่และคือเสน่ห์อันร้ายกาจของธรรมชาติและผมก็เชื่อว่าใครก็ตามที่เข้าใจกฎเกณฑ์ข้อนี้ดีเขาไม่มานั่งคิดเล็กคิดน้อย ว่าเห็นหรือไม่เห็นหรอกครับ

3.ยังไม่มีใครได้ศึกษาและเผยแพร่ถึงปรากฏการณ์นี้อย่างจริงจัง และผมคิดว่าคงอีกนานที่จะมีหน่วยราชการ หรือหน่วยงานที่เกื่ยวข้องเข้ามาทำการศึกษา ผมคิดว่าอาจเป็นเพราะมนุษย์(โดยเฉพาะคนไทย)มีจริตชอบเรื่องในทางลึกลับ ตำนาน หรือ ความเชื่อมากกว่าจะรู้ความจริง และความจริงบางอย่างถ้ารู้แล้วสู้ไม่รู้เลยจะดีกว่า เช่น ถ้าหากรู้ว่านี่เป็นเพียงการปลดปล่อยพลังงานของสสารชนิดหนึ่งที่อยู่ใต้ผืนน้ำก่อเกิดเป็นเปลวไฟพวยพุ่งออกมา ก็ไม่มีอิทธิฤทธิ์อันใดมาดลบันดาลให้ถูกหวยในงวดนี้ได้ เป็นต้น ลองสังเกตดูตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆมักจะมีตำนานแบบนี้เป็นเรื่องเด่นเสมอ

4.ธรรมชาติเป็นสิ่งที่สวยงามและยังคงมีมนต์ขลังเสมอมา และเรา มนุษย์ทั้งหลายถึงแม้จะ(โกหกตัวเองว่า)ฉลาดแค่ไหนก็สู้กับความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติไม่ได้แน่นอน (เหมือนเมื่อผมตั้งหน้าตั้งตารอกว่าค่อนวันนั่นแหละ)

บทส่งท้ายจริงๆขอให้"เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ"แค่นี้ก็พอ