Tuesday, October 10, 2006

15 ค่ำ เดือน 11

สารภาพตามตรงหากไม่มีภาพยนตร์ชื่อเรื่องเดียวกับที่จั่วหัวเอาไว้เป็นแรงกระตุ้นอารมณ์อยากรู้อยากเห็น ผมคิดว่าในช่วงชีวิตนี้คงจะไม่มีโอกาสเดินทางไปสุดเขตประเทศไทยเพื่อทัศนา "บั้งไฟพญานาค"แน่ๆ เพราะต้องยอมรับว่าสมัยนี้สื่อมีอิทธิพลต่อมนุษย์เป็นอย่างมากโดยเฉพาะผมผู้ซึ่งวันๆไม่ได้มีเวลา ย่อยสรรพสาระบ้างไร้สาระบ้างทั้งหลายแหล่ที่ประดังเข้ามาในทุกช่วงเวลาของการรับรู้ เลยมีแนวโน้มที่จะเชื่อตามเขาว่าอย่างไม่ยากเย็นนัก ยิ่งมุมมองของผู้กำกับได้ถ่ายทอดบรรยากาศ ภายในงานที่ดูยิ่งใหญ่ประหนึ่งเป็นมหกรรมประจำชาติ บวกกับตอนจบของเรื่องที่ทิ้งปริศนาเอาไว้ให้ขบคิด ยิ่งทำให้อยากไปสัมผัส"ของจริง"ว่ามันจะเหมือนอย่างที่จินตนาการเอาไว้หรือไม่

เรา(คือผมและเพื่อน อีก 3 คน)ออกจาก จ.อุดรธานี ประมาณ 10 โมงเช้า ท่ามกลางบรรยากาศขมุกขมัวของวัน ขับรถไปตามทางหลวงหมายเลข 2 หรือถนนมิตรภาพที่ทอดยาวจากกรุงเทพมหานคร เรื่อยไปจนถึง จ.หนองคาย ท้องฟ้าวันนี้ไม่โปร่ง แสงแดดไม่สามารถลอดผ่านม่านเมฆสีทาดำที่ห่มคลุมผืนฟ้าเบื้องหน้า เหมือนกับไม่อยากต้อนรับอาคันตุกะที่มาจากต่างแดนฉะนั้น โชคยังดีที่รถของเราวิ่งฝ่าฝนเพียงแค่ชั่วครู่ชั่วยาม ถึงแม้ห่าฟนที่ตกลงมาจะเป็นรองแค่พายุช้างสารที่ได้มาเยือนประเทศไทยก่อนหน้านี้ก็ตามที

จ.หนองคายเป็น จังหวัดเล็กๆอยู่ติดแม่นำโขง ลักษณะเป็นแนวยาวทอดตัวตามทิศตะวันออก-ตก มีสะพานข้ามแม่น้ำโขง หรือสะพานมิตรภาพไทย-ลาวข้ามไปยังฝั่งลาว และถ้าหากต่อรถเข้าไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตรก็จะถึงเมืองเวียงจันทร์ ทำให้ทุกวันนี้หนองคายมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะมากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะพวก back packers เพราะถือว่าเป็นเมืองที่มีชัยภูมิดีต่อการตั้งมั่นและคมนาคม นอกจากนี้ยังได้รับ vote จากบรรดานักท่องเที่ยวทั้งหลายให้เป็นเมืองน่าอยู่อันดับต้นๆของโลกเสียด้วย

เราแวะจอดรถที่ข้างถนนในตัวเมืองหนองคาย โดยคำแนะนำของอม่าเจ้าของบ้านที่รถเราไปวางตัวขวางทางเข้าออกอยู่นั้น แกบอกให้ออกเดินทางไป อ.โพนพิสัย สักประมาณบ่ายต้นๆ เพราะคาดจากประสบการณ์โชกโชนของแก ว่ารถจะติดมากในช่วงใกล้ค่ำ เราขอบคุณอม่าและเดินไปหาอาหารเที่ยงกินกันในตลาดท่าเสด็จ ตลาดอินโดจีนชื่อดังของจ.หนองคาย จากการเดินสำรวจในระยะเวลาสั้นๆ ผมพบว่าตลาดแห่งนี้ ไม่มีอะไรแปลกใหม่ เหมือนกับตลาดติดชายแดนทุกแห่งที่มักขายของแบบเดืยวกัน(ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร) เช่น ผ้าซิ่น ผ้าไหม ขนมห่อ ขนมถุง เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเล่นเด็กฯลฯ โดยเน้นปริมาณและราคาถูกเป็นหลัก ผมไม่ได้ติดใจมากนักแล้วก็ไม่คิดจะซื้อของฝากใครด้วยจึงไม่ได้เยี่ยมชมและเลือกซื้อของตามคุณสมบัตินักท่องเที่ยวที่ดี

เราใช้เวลากับการกิน อยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง จึงได้ฤกษ์ออกเดินทางไป อ.โพนพิสัยที่ว่ากันว่าเป็นจุดเยี่ยมชมบั้งไฟพญานาคที่ work ที่สุด และเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง 15 ค่ำเดือน 11 (นอกจากอำเภอนี้แล้ว ยังมีอีกหลายอำเภอที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เช่น อ.รัตนวาปี เป็นต้น หรือจะดูที่ไหนก็ได้ที่ติดแม่น้ำโขงแต่จำเพาะต้องอยู่ใน จ.หนองคายเท่านั้นจังหวัดอื่นไม่มีสิทธิ์)


อ.โพนพิสัยในวันออกพรรษาดูคึกคัก มีผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ท้องถนนคลาคล่ำไปด้วยยวดยานพาหนะหลาย species และฝูงชนผู้ฃึ่งออกเดินเยี่ยมชมเมืองสัมผัสบรรยากาศ one moment in time และพร้อมใจกันฆ่าเวลาให้ตายเกลื่อนเพราะกว่าที่บั้งไฟพญานาคจะผุดพรายขึ้นมาจากท้องน้ำต้องรอให้ตะวันหลบแสงเสียก่อน เราก็เอากับเขาด้วย ไม่ว่าจะเดินเล่นริมโขง เข้าวัดไหว้พระ เล่นสวนสนุกเคลื่อนที่จำพวกชิงช้าสวรรค์ และ รถบั้มพ์ แต่จนแล้วจนรอดพระอาทิตย์ก็ยังไม่ลาลับโลกไปเสียที

ตลอดริมฝั่งแม่น้ำโขงที่ทอดขนานไปกับตัวอำเภอมีฝูงชนเข้ามาจับจองที่นั่งเป็นระยะ บ้างก็นั่งรอ ร้อ รอ เฉยๆ บ้างก็ถือโอกาส pick nick กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากันเสียเลย ที่สะดุดตาที่สุดคงหนีไม่พ้น เต้นท์นอน ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง ที่วางกระจายตามแนวตลิ่งริมแม่น้ำ คาดว่าคงจะนอนนับบั้งไฟกันทั้งคืนหรือไม่ก็นอนรอฟ้าแจ้ง ไม่ต้องออกไปแย่งยื้อกับประชากรนับหมื่นที่คาดว่าจะพร้อมใจกันกลับบ้านในคืนนี้

-------------------------------------------------------------------

ฟ้ามืดมานานแล้วแต่ผมก็ยังไม่เห็นบั้งไฟพญานาคสักดวง ตอนนี้บรรยากาศจัดว่าค่อนข้างอึดอัดเพราะยังคงมีฝูงชนทยอยกันมาอยู่เรื่อยๆ จากที่เหยียดแข้งเหยียดขาและเอกเขนกได้ก็ต้องจัดระเบียบร่างกายไม่ให้รุกล้ำอธิปไตยของคนอื่น แถมยังต้องพะว้าพะวังกับไฟเทียมที่ชาวปะชาริมฝั่งพร้อมใจกันจุดแข่งแสงของพญานาค ทั้งกระทงไฟที่ไหลเอื่อยไปตามแรงกระเพื่อมของลำน้ำโขง และโคมลอยที่ขยันจุดกันเหลือเกิน ทำให้ผมรู้สึกสับสนว่าอยู่ในงานประเพณียี่เป็งของ จ.เชียงใหม่ ไหลเรือไฟของ จ.นครพนม หรือกังการตี ของเมืองพาราณสีประเทศอินเดีย กันแน่ นอกจากนี้ยังต้อง warm up อายตนะภายในให้ตื่นตัวอยู่เสมอหากมีเสียงกึกก้องกัมปนาทมาจากทิศทางไหนก็ต้องสั่งการให้ลำคอหมุนไปยังทิศนั้นเพื่อเสพภาพของบั้งไฟที่คิดว่าน่าจะเป็นของพญานาค แต่ก็ไม่เคยได้ดังหวังสักที

หลังจากที่อดทนรอกว่า 6 ชม. ผมกับเพื่อนได้ตัดสินใจกลับ เพราะไม่สามารถทนกับแสงสี artificialและฝูงชนมหาศาลได้อีกต่อไป คงต้องโทษตัวเองที่ไม่มีบุญได้เห็นบั้งไฟพญานาคแม้เพียงแค่ลูกเดียวในชีวิต และก็ความไม่มีบุญของเรานี่แหละที่ทำให้มาพานพบกับความไร้ระเบียบของใครหลายๆคนที่พยายามแย่งซีน ปรากฏการณ์ธรรมชาติ จึงอดไม่ได้ที่จะโกรธ ทั้งที่เมื่อแรกมาก็ปาวารนาตัวแล้วว่าขอแค่สัมผัสบรรยากาศเพื่อเป็น "สักครั้งหนึ่งในชีวิต"ก็พอ

-----------------------------------------------

บทส่งท้าย :ข้อคิดที่ผมได้รับจากปรากฏการณ์ "บั้งไฟพญานาค"

1.จ.หนองคายได้กลายเป็นหมุดหมายปลางทางของบรรดา touristทั้งหลายอย่างไม่ต้องสงสัย และทางจังหวัดเองซึ่งอาจจะได้รับแรงสนับสนุนจากองค์กรการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง ได้ถือโอกาสอุปโลกน์ตัวเองให้กลายเป็นเมืองพญานาคเอาเสียเลย(ทั้งที่ไม่เคยมีใครเห็นพญานาคอุ้มลูกจูงหลานเลื้อยมาจ่ายตลาดเลยสักคน) อันที่จริงในตำนานพื้นบ้านก็เล่าไว้ว่าในแถบจ.หนองคายและฝั่งลาวที่อยู่ตรงข้ามเคยเป็นที่อยู่ของพญานาคมาก่อนและพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาทำนายเอาไว้ว่าจะมีบ้านเมืองที่เจริญเกิดขึ้น เนื้อเรื่องเป็นสัญญะถึงการดองเป็นทองแผ่ยเดียวกันของระบบความเชื่อดั้งเดิมที่บูชานาค กับการรับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาสถิตย์ในดินแดนแถบนี้ คล้ายกับตำนานอุรังคธาตุในการสร้างพระธาตุพนม ทุกวันนี้จึงเห็นประติมากรรมนาคมากมายไม่เว้นแม้กระทั่งเสาไฟฟ้า! คล้ายๆกับเป็นการหยิบเอาบางส่วนบางตอนของตำนานมาร้อยรัดเป็นเรื่องราวให้เกิดเป็นอัตลักษณ์ แสดงความ unique กระตุ้นให้เกิดการแสวงหาที่ต้องการหลุดพ้นจากสิ่งที่มัน same same (ซึ่งองค์กรการท่องเที่ยวของประเทศนี้เขาชอบนัก)

2."บั้งไฟพญานาค" ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สัมบูรณ์อีกต่อไป เพราะมีมือหลายมือเข้ามาช่วยเหลือ ออกไอเดีย จัดรูปแบบ ให้ประชาชนทุกคนได้มีส่วนร่วมกันอย่างทั่วถึง มองในแง่ดีก็ทำให้เราไม่จำเป็นต้องตะเกียกตะกายในการมาดูมากนัก เพราะมีคนมาคอย guide เราบ้างแล้ว แต่ในแง่ร้ายที่ผมคิดว่าทำให้ความขรึมขลังของปรากฏการณ์นี้หายไปอย่างมาก ก็คือความเลอะเทอะของฝูงชนที่ไม่ยึดตามกฏระเบียบและกิจกรรมต่างๆที่ได้ประเดประดังเข้ามาให้เห็นอยู่ทุกบ่อย เหมือนลืมไปแล้วว่าโดยเนื้อแท้คืออะไร ผมคิดว่าที่จำเป็นต้องจัดให้มีกิจกรรมหลากหลายก็เพราะเราไม่อาจคาดการณ์อะไรล่วงหน้าได้เลย จึงต้องมีวิธีผ่อนคลาย หรือ distract สมาธิออกไปบ้าง แต่อย่าลืมนะครับว่า การที่เราไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้นี่และคือเสน่ห์อันร้ายกาจของธรรมชาติและผมก็เชื่อว่าใครก็ตามที่เข้าใจกฎเกณฑ์ข้อนี้ดีเขาไม่มานั่งคิดเล็กคิดน้อย ว่าเห็นหรือไม่เห็นหรอกครับ

3.ยังไม่มีใครได้ศึกษาและเผยแพร่ถึงปรากฏการณ์นี้อย่างจริงจัง และผมคิดว่าคงอีกนานที่จะมีหน่วยราชการ หรือหน่วยงานที่เกื่ยวข้องเข้ามาทำการศึกษา ผมคิดว่าอาจเป็นเพราะมนุษย์(โดยเฉพาะคนไทย)มีจริตชอบเรื่องในทางลึกลับ ตำนาน หรือ ความเชื่อมากกว่าจะรู้ความจริง และความจริงบางอย่างถ้ารู้แล้วสู้ไม่รู้เลยจะดีกว่า เช่น ถ้าหากรู้ว่านี่เป็นเพียงการปลดปล่อยพลังงานของสสารชนิดหนึ่งที่อยู่ใต้ผืนน้ำก่อเกิดเป็นเปลวไฟพวยพุ่งออกมา ก็ไม่มีอิทธิฤทธิ์อันใดมาดลบันดาลให้ถูกหวยในงวดนี้ได้ เป็นต้น ลองสังเกตดูตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆมักจะมีตำนานแบบนี้เป็นเรื่องเด่นเสมอ

4.ธรรมชาติเป็นสิ่งที่สวยงามและยังคงมีมนต์ขลังเสมอมา และเรา มนุษย์ทั้งหลายถึงแม้จะ(โกหกตัวเองว่า)ฉลาดแค่ไหนก็สู้กับความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติไม่ได้แน่นอน (เหมือนเมื่อผมตั้งหน้าตั้งตารอกว่าค่อนวันนั่นแหละ)

บทส่งท้ายจริงๆขอให้"เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ"แค่นี้ก็พอ

1 comment:

Tik said...

ชอบจังบทส่งท้ายเนื่ย "เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ"